Psychosis Home Other Web Contact

โรควิตกกังวล

โรควิตกกังวล

โรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) คือ โรคทางจิตใจที่มีความรุนแรงกว่าความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ซึ่งผู้ป่วยที่เป็นโรควิตกกังวลจะพบว่ามีความวิตกกังวลและอาการอื่น ๆ ต่อเนื่องและอาการไม่หายไป หรืออาจมีอาการที่แย่ลงได้ในที่สุด โรควิตกกังวลทำให้เกิดอุปสรรคในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การทำงาน การเรียนหนังสือ และการรักษาความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมก็สามารถจัดการกับอาการและกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ โรควิตกกังวลมีหลายประเภท เช่น โรคแพนิค (Panic Disorder) โรคกังวลทั่วไป (Generalized Anxiety Disorder: GAD) โรคกลัวการเข้าสังคม (Social Anxiety Disorder) หรือโรคกลัวแบบจำเพาะ (Specific Phobias)เป็นต้น

อาการของโรควิตกกังวล
อาการของโรควิตกกังวล ขึ้นอยู่กับประเภทของโรควิตกกังวล โดยอาการทางกายและใจที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป ได้แก่
•มีอาการตื่นตระหนก กลัว และไม่สบายใจ
•ไม่สามารถอยู่ในความสงบได้ กระสับกระส่าย กระวนกระวาย หงุดหงิด ไม่มีสมาธิ
•มีปัญหาเรื่องการนอนหลับ
•มือและเท้าเย็น หรือเหงื่อแตก
•หายใจตื้น
•ใจสั่น
•เจ็บหน้าอก
•ปากแห้ง
•มีอาการเหน็บชาที่มือและเท้า
•มีอาการคลื่นไส้
•เวียนศีรษะ
•ปวดศีรษะ
•กล้ามเนื้อตึงเกร็ง
•มีความอ่อนล้า เหนื่อยง่าย
•มีอาการสั่น

สาเหตุของโรควิตกกังวล
สาเหตุของโรควิตกกังวล ไม่ได้มาจากความบกพร่องทางบุคคลิกภาพ หรือการเลี้ยงดูที่ไม่ดี แต่มีสาเหตุคล้ายกับโรคทางจิตชนิดอื่น ๆ จากการวิจัยพบว่าโรคทางจิตใจเหล่านี้เกิดจากปัจจัยหลายอย่างร่วมกัน ได้แก่ การทำงานของสมองบางส่วนที่เกิดความเปลี่ยนแปลง และความเครียดที่เกิดจากสภาพแวดล้อม
•โครงสร้างการทำงานของสมอง โรควิตกกังวลอาจมีสาเหตุมาจากข้อบกพร่องหรือปัญหาที่เกิดขึ้นกับการทำงานของสมองส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ต่าง ๆ หรือหากมีความเครียดมาก ๆ เป็นเวลานาน อาจทำให้เซลล์ประสาทและสมองส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ นอกจากนั้น ยังพบว่าผู้ที่เป็นโรควิตกกังวลบางชนิด มีการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับอารมณ์และความรู้สึก
•กรรมพันธุ์ โรควิตกกังวลเกิดได้จากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมจากพ่อแม่สู่ลูกทำนองเดียวกันกับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของโรคมะเร็งและโรคหัวใจ •ปัจจัยที่มาจากสิ่งแวดล้อม เช่น การได้รับบาดเจ็บ หรือประสบกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดโรควิตกกังวล โดยเฉพาะผู้ป่วยเป็นโรควิตกกังวลที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม จะมีปฏิกิริยาที่ไวต่อการถูกกระตุ้นจากปัจจัยดังกล่าว
•ปัจจัยเฉพาะอื่น ๆ เช่น
•ความขี้อายหรือไม่กล้าแสดงอารมณ์ในเด็ก
•มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ไม่ดี
•เป็นหม้ายหรือเคยหย่าร้าง
•ต้องพบกับเหตุการณ์ในชีวิตที่มีความตึงเครียด ทั้งในวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่
•มีประวัติของคนในครอบครัวที่เป็นโรคทางจิตใจ
•มีระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลในน้ำลายเพิ่มในช่วงบ่ายซึ่งมาจากความเครียด โดยเฉพาะกับผู้ที่เป็นโรคกลัวการเข้าสังคม (Social Anxiety Disorder)
•โรคอื่น ๆ ที่มีอาการคล้ายคลึงกับอาการของโรควิตกกังวล เช่น ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน หัวใจเต้นผิดปกติ หรือภาวะหัวใจล้มเหลว ซึ่งเป็นกรณีที่ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม

การรักษาโรควิตกกังวล
การรักษาโรควิตกกังวลขึ้นอยู่กับประเภทของโรค ซึ่งวิธีที่ใช้ในการรักษาโดยทั่วไป มีดังนี้
•จิตบำบัด (Psychotherapy) เป็นการรักษาด้วยการให้คำปรึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต เพื่อให้ผู้ป่วยเรียนรู้วิธีรับมือกับปัญหาของโรควิตกกังวลได้ในที่สุด
•การรักษาด้วยการเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม (Cognitive-Behavioral Therapy) เป็นวิธีการรักษาทางจิตที่ช่วยให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้การปรับเปลี่ยน วิธีคิดและพฤติกรรมที่นำไปสู่ปัญหาทางอารมณ์และความรู้สึก เช่น ช่วยให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคแพนิคเรียนรู้ว่าอาการแพนิคนั้นไม่ใช่อาการของโรคหัวใจ หรือช่วยให้ผู้ที่เป็นโรคกลัวการ เข้าสังคมเรียนรู้ที่จะเอาชนะความเชื่อที่คิดว่าคนอื่นคอยจ้องมองหรือตัดสินตน เป็นต้น
•การฝึกจัดการกับความเครียด วิธีฝึกการจัดการกับความเครียดและการทำสมาธิ เป็นวิธีที่จะช่วยให้ผู้ป่วยโรควิตกกังวลมีอารมณ์ที่สงบลงและยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบำบัดวิธีอื่นได้ด้วย
•การรักษาด้วยยา ยาที่นำมาใช้ในการรักษาและลดอาการของโรควิตกกังวล เช่น
•ยารักษาอาการซึมเศร้า เช่น ยากลุ่มเอสเอสอาร์ไอ
•ยาระงับอาการวิตกกังวล เช่น ยากลุ่มเบนโซไดอะซีปีน เช่น ยาอัลปราโซแลม และยาโคลนาซีแพม ยาช่วยควบคุมอาการทางร่างกายเมื่อมีความวิตกกังวล เช่น ใจสั่น มือสั่น คือ ยาเบต้า บล็อกเกอร์ เช่น ยาโพรพราโนลอล ยาอื่น ๆ เช่น ยารักษาโรคลมชัก และยาระงับอาการทางจิต

ย้อนกลับ หน้าต่อไป

โรคซึมเศร้า โรคแพนิค โรคจิตเภท โรคย้ำคิดย้ำทำ โรคไบโพล่า โรคสมองเสื่อม โรคสมาธิสั้น โรคกลัวแบบเฉพาะ โรคหลายอัตลักษณ์ โรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ